“ความสามารถด้าน UX มีแค่ไหนแล้ว”

เป็นคำถามที่คนทำหรือคนที่ศึกษาด้าน UX มักมีขึ้นในใจ เพราะผลลัพธ์ของมันไม่ค่อยชัด เริ่มต้นเราอาจจะคิดว่า UX คือการออกแบบให้ใช้งานได้ง่ายถ้าใครออกแบบมาแล้วใช้งานได้ง่าย เข้าใจได้ทันทีนั่นคือมีความรู้ด้าน UX แล้ว ซึ่งถูกต้องสำหรับการเริ่มต้นครับ

ถ้าเราเริ่มวาดภาพแล้วออกมาสวยคนดูแล้วรู้ว่าเป็นภาพอะไรก็ถือว่าเรามีความรู้ความสามารถด้านการวาดภาพแล้ว แต่จริงๆ การวาดภาพยังมีเทคนิคและแนวทางในการวาดอีกมากมาย แม้แต่แนวทางแบบตามใจตัวเอง และแนวการวาดตามโจทย์ ก็มีกระบวนการคิดที่ไม่เหมือนกัน

ในการทำงานด้าน UX ให้ดีก็มีพื้นฐานความรู้อยู่หลายอย่าง เท่าที่อ่านมาเค้าแบ่งใหญ่ๆ ออกเป็นสามข้อ

  1. Understanding: คือทักษะในการทำความเข้าใจคน ทั้งผู้ใช้และผู้ให้โจทย์ รวมทั้งทักษะในการหาหนทางที่จะเข้าใจด้วย
  2. Definition: คือทักษะในการออกแบบเนื้อหานั้นเอง ทั้งการออกแบบบริการ ออกแบบลำดับของข้อมูล ออกแบบการโต้ตอบ ออกแบบสิ่งของ
  3. Communication: คือทักษะในการทำให้คนในทีมหรือผู้ใช้เข้าใจสิ่งที่เราต้องการสื่อ

ที่แบ่งเป็นสามข้อก็ไม่ใช่ว่าเราควรจะเก่งไปในทางใดทางหนึ่งในสามข้อนี้ แต่เป็นแค่การแสดงให้เห็นว่าคนทำ UX นั้นควรมีอะไรอยู่ด้านในบ้าง

ที่นี้ในแต่ละข้อจะแยกเป็นเนื้อหาย่อยๆ อีกรวมทั้งหมด 12 ข้อ แต่ละข้อก็ไม่ใช่ว่าจะอยู่ในหัวข้อใดข้อหนึ่งอย่างชัดเจน ดังนั้นก็ไม่ต้องคิดมากครับ เอาเป็นว่าเราลองดูว่าเนื้อหาในแต่ละข้อเลยละกัน

  1. Human Factors: ความรู้ด้านพฤติกรรมของมนุษย์ หรือความรู้ด้านการออกแบบให้ผู้ใช้สบายลดความเครียด (Ergonomic)
  2. Usability Engineering: ความรู้ในการออกแบบหน้าจอให้เหมาะกับการใช้งาน เช่น รู้ตำแหน่งของวัตถุที่คนคาดว่าจะเจอ หรือรู้ว่าการจัดวางหน้าจอแบบไหนจะทำให้ผู้ใช้ทำงานได้เร็วที่สุด เป็นต้น ส่วนมากจะเป็นเรื่อง Human-computer-interaction

  3. Design Research: ความรู้ด้านการออกแบบวิธีการทำความเข้าใจผู้ใช้ เช่นการทำ Shadowing, Wizard of oz หรือ Card sort analytic เป็นต้น

  4. Information Architecture: ความรู้ในการจัดการข้อมูลให้เป็นระบบระเบียบตามลำดับชั้น ตามลำดับความสำคัญ หรือตามลำดับที่ผู้ใช้ควรจะได้เจอ หรือตามลำดับการเล่าเรื่องเพื่อส่งให้ผู้ใช้รู้สึกตามที่เราต้องการ

  5. Interaction Design: ความรู้ในการออกแบบเพื่อโต้ตอบกับผู้ใช้ โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม ระบบโดยรวม ส่งให้ผู้ใช้เข้าใจหรือมีความรู้สึกตามที่ออกแบบไว้

  6. Industrial Design: ความรู้ในการพัฒนาสิ่งของ โดยเฉพาะในเรื่องของการผลิตแบบจำนวนมากๆ

  7. Service Design: ความรู้ในการออกแบบบริการ โดยเน้นไปที่การปรับปรุง การสื่อสาร ระบบพื้นฐาน สิ่งของต่างๆ หรือแม้แต่คนที่มีผลต่อบริการ เพื่อให้บริการนั้นดีขึ้น

  8. Information Design: ความรู้ในการทำให้ข้อมูลนั้นถูกนำเสนอในรูปแบบที่ง่ายต่อการนำไปใช้งานต่อ เช่นการทำ Data Visualization หรือการทำ Infographic เป็นต้น

  9. Visual Design: ความรู้ในการออกแบบภาพ สัญลักษณ์ เพื่อใช้ในการสื่อสาร

  10. Branding: ความรู้ในการสร้างชื่อ รูปภาพ หรือวัตถุ ที่ทำให้ผู้คนจดจำ เน้นไปในด้านการสื่อสารและสร้างความเชื่อถือกับลูกค้า

  11. Technical Communication: ความรู้ในการสื่อสารด้านเทคนิคเฉพาะทาง เช่นดาตาเบส การพัฒนาโปรแกรม กระบวนการพัฒนาโปรแกรม หรือขั้นตอนในการผ่าตัด เป็นต้น

  12. Content Management: ความรู้ในการจัดการเนื้อหาในระบบคอมพิวเตอร์ เช่น การใช้ระบบ CMS หรือการจัดการข้อมูลด้วยระบบ DAM เป็นต้น

จริงๆ ผมก็ไม่ใช่ผู้เชียวชาญในแต่ละสาขานะครับ โอกาสที่จะนิยามได้ถูกต้องก็ไม่มากนัก แต่ที่ต้องการทำคือจะพยายามแยกให้แต่ละความรู้มันไม่โยงกันจนเกินไปให้แต่ละสาขามีพระเอกของตัวเอง เพราะจริงๆ แล้วมันก็เกี่ยวกันไปหมด เช่นการจะทำ Visual Design ให้ดีก็ต้องมีความรู้ด้าน Information Design ด้วย เป็นต้น ถ้าใครที่คิดว่ามีนิยามที่ตรงกว่าฝากช่วยบอกด้วยครับ

หลังจากนี้เราลองมาดู Skill ของตัวเราเองบ้างครับ ผมเสนอให้ลองทำใน http://uxmastery.com/ux-self-assessment-sundial/

โดยให้ลองตั้งข้อที่เรามีความรู้มากที่สุดให้มีคะแนนสูงๆ และหาข้อที่ไม่มั่นใจให้มีคะแนนต่ำๆ จากนั้นข้อที่เหลือก็ให้ใช้สองข้อนี้เป็นตัวเทียบ

ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นของตัวเราเองว่าเรานั้นถนัดในด้านไหน และควรพัฒนาในด้านใด ซึ่งเป็นผลของเราคนเดียวครับไม่ได้เอาไปเทียบกับคนอื่น

นอกจาก Knowledge แล้ว ยังไม่ส่วนที่เป็น Soft Skill ของ UX ด้วยไว้มาเล่าต่ออีกทีนะครับ

ที่มา: http://uxmastery.com/ux-skills-stack/ http://deviseconsulting.com/defining-ux/